"ประวัติศาสตร์ เอาเรื่อง..."
๑๑ พฤศจิกายน วันยุติสงครามโลกครั้งที่ ๑
สงครามโลกครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๖๑) มีสาเหตุมาจาก เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๕๗ อาร์ชดุ๊ก ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ มงกฎราชกุมารแห่งราชบัลลังก์ออสเตรีย และพระราชา ถูกชาวเซอร์เบียร์ลอบปลงประชนม์ เป็นชนวนเหตุให้ออสเตรียประกาศสงครามกับเซอร์เบีย ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๕๗ ต่อมาประเทศที่เป็นพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายต่างหนุนหลังฝ่ายของตนและประกาศสงครามซึ่งกันและกัน ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๕๗ โดย ฝ่ายเยอรมนี ประกอบด้วย ออสเตรีย-ฮังการี บัลแกเรีย และตุรกี ส่วนฝ่ายสัมพันธมิตร ประกอบด้วยรัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และอีก ๒๕ ประเทศ
นับเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งแรก ที่ขยายขอบเขตกว้างขวาง เนื่องจากเป็นความขัดแย้งที่ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง ก่อนที่อิตาลีและสหรัฐอเมริกา จะเข้าร่วมในภายหลัง สำหรับประเทศสยาม ช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้อุบัติขึ้นและดำเนินไปนั้น ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ได้ทรงประกาศร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยได้ส่งกองทหารอาสาจำนวน ๑,๒๘๔ นาย จากกองทัพบกรถยนต์และกองบินทหารบกไปยังฝรั่งเศส นับเป็น ๑ ใน ๓ ประเทศในเอเชียที่ประกาศร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยืดเยื้อยาวนานกว่า ๔ ปี ในที่สุดเยอรมนี ในฐานะฝ่ายมหาอำนาจกลางได้ติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อขอเจรจาสงบศึกในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๑๙๑๘ จากนั้นทั้งสองฝ่ายจึงได้ลงนามในสัญญา สงบศึกบนรถไฟ ณ เมืองคองเปียน ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๑๙๑๘ จึงนับให้ วันที่ ๑๑ เดือนพฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันยุติสงครามโลกครั้งที่ ๑ อย่างเป็นทางการ
ภายหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เหล่าทหารอาสาสมัครได้เดินทางกลับถึงประเทศ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๖๒ (ค.ศ. ๑๙๑๙) โดยได้เชิญอัฐิของทหารที่เสียชีวิตในราชการสงคราม จำนวน ๑๙ นาย กลับสู่ภูมิลำเนาด้วย โดยในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์เป็นที่บรรจุอัฐิ และเป็นอนุสรณ์สถานถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น และได้พระราชทานนามว่า อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลก ครั้งที่ ๑ เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมแห่งการเสียสละของเหล่าทหารอาสา และได้มีการจัดพิธีวางพวงมาลาในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็น วันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑
การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ของไทยในครั้งนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติหลายประการ โดยนอกจากจะได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์โลกและความเป็นเอกราช ความสามารถ และศักยภาพของไทยแล้วนั้น ยังทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลก โดยเฉพาะชาติสัมพันธมิตร ยุโรปและอเมริกา ได้รู้จักประเทศไทย ซึ่งเปิดทางสู่การแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่ไทยเสียเปรียบประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอังกฤษและชาติต่าง ๆ ในยุโรป ๑๓ ประเทศ ที่เคยทำสัญญาผูกมัดประเทศไทย ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาสำคัญในการฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยและเสรีภาพทางการค้ากับตะวันตก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้มีโอกาส เข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส และได้ก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก โดยเป็นสมาชิก ผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ (The League of Nations) เมื่อปี พ.ศ. ๒๘๖๒ (ค.ศ. ๑๙๑๙) อีกด้วย
ขอขอบคุณ
เนื้อหาและภาพประกอบ : องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, https://thestandard.co/ และ https://www.thaiembassy.fr/